ปัจจุบันในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีสายการผลิตด้วยเครื่องจักรกลประเภทหุ่นยนต์ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องจักรกลอัตโนมัติในสายการผลิตที่จำเป็นอย่างยิ่งแต่หุ่นยนต์ในโรงงานเหล่านี้ยังแยกอยู่คนละแผนกหรือบริเวณกับมนุษย์อย่างชัดเจนทำหน้าที่ยกหรือประกอบของหนักทำงานซ้ำๆ กัน ตามคำสั่งที่โปรแกรมมันไว้ล่วงหน้าในขณะที่มนุษย์จะทำงานในส่วนที่ละเอียดอ่อนกว่าและอันตรายน้อยกว่า

นอกจากนี้หุ่นยนต์เหล่านี้ที่ทำงานร่วมกับมนุษย์ยังทำงานไม่เหมือนกันในแต่ละตัวในแต่ละสถานี โดยมันจะทำงานแตกต่างกันตามลักษณะการทำงานของวิศวกรแต่ละคนที่มันทำงานด้วยเพราะมันมีอัลกอลิธึมที่ทำให้มันสามารถเรียนรู้และปรับตัวในเข้ากับการทำงานของแต่ละคนทำให้มันสามารถทำนายและล่วงรู้หน้าว่า คนที่ทำงานกับมันจะทำอะไรต่อไป เรียกว่า รู้ใจและเข้าขากันเลยทีเดียว ตัวอย่างหุ่นยนต์ที่สามารถทำงานร่วมกับมนุษย์ในปัจจุบัน ได้แก่ FRIDA ซึ่งย่อมาจาก Friendly Robot for Industrial Dual-arm Assembly ซึ่งผลิตโดยบริษัท ABB ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มันเป็นหุ่นยนต์อเนกประสงค์ที่ไม่มีหัวหรือหน้า มีแต่สองแขนที่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระแบบ 7 แกน มีมอเตอร์เซอโวที่สามารถทำให้มันจับสิ่งของด้วยความปราณีต มันสามารถเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยได้เป็นอย่างดี มันสามารถขันน๊อตหรืออัดกาวเข้าไปในรูน๊อต ซึ่งเป็นขั้นตอนในการประกอบปีกเครื่องบินโบอิ้งแล้วให้วิศวกรเป็นคนตอกน๊อตเข้าไป หรือแม้แต่ในงานเกี่ยวกับการแพทย์ในโรงพยาบาล หุ่นยนต์ FRIDA ก็สามารถเป็นผู้ช่วยได้เป็นอย่างดี เช่น มันถูกใช้เพื่อเป็นผู้ช่วยของศัลยแพทย์ที่กำลังทำการผ่าตัดมันสามารถส่งเครื่องมือผ่าตัดให้แก่ศัลยแพทย์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำความจริง FRIDA เป็นเพียงหนึ่งในหุ่นยนต์ที่หลายบริษัทผู้ผลิตหุ่นยนต์เพื่อการใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมกำลังวิจัยและผลิตออกมาสู่ท้องตลาดรวมทั้งเจ้า Nextage ที่ผลิตโดยบริษัท Kawada Industries และ Motoman SDA10D ที่ผลิตโดยบริษัท Yaskawa ประเทศญี่ปุ่น มันจะเป็นหุ่นยนต์ที่เบากว่าปลอดภัยกว่า ง่ายต่อการโปรแกรมใช้งาน และที่สำคัญราคาถูกลงเราเรียกหุ่นยนต์พวกนี้ว่า หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 2.0 (Industrial Robot 2.0)

จากข้อมูลปรากฏในนิตยสาร IEEE Robotics & Automation ที่ตีพิมพ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา มีหลายแนวโน้มที่น่าสนใจ แต่แนวโน้มที่มาแรงที่สุดของปี 2555 นี้ เห็นทีจะเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถอยู่อาศัยร่วมกับมนุษย์ (Co-inhabitant Robot) เช่น หุ่นยนต์ที่ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่บ้านพักอาศัย หรือหุ่นยนต์ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือทำงาน ซึ่งทางประเทศสหรัฐอเมริกาโดย National Robotics Initiative ได้ประกาศทุ่มเงินวิจัยมากถึง 2 พันล้านบาทเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้อย่างลงตัว ซึ่งนอกจากหุ่นยนต์จะต้องมีสมองหรือระบบประมวลผลที่ฉลาดอย่างน่าทึ่งแล้ว มันต้องมีประสาทสัมผัสที่เหมือนมนุษย์หรือถ้าเป็นไปได้ต้องเหนือมนุษย์ด้วยซ้ำประสาทสัมผัสที่สำคัญที่สุดคือ ตา ทำหน้าที่รับรู้วัตถุและตำแหน่ง ปัจจุบันเทคโนโลยี Kinect ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเซนเซอร์ 3 มิติ ของ Microsoft สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี ทดแทนกล้องแบบเดิมและการใช้ลำแสงเลเซอร์แบบกวาดเนื่องจากการใช้กล้องสองตัวทำงานเลียนแบบตามนุษย์โดยที่มันสามารถค้นหาและจดจำตำแหน่งของสิ่งที่มันมองเห็นและวัตถุที่เคลื่อนไหวเป็นแบบ 3 มิติ
